วันพุธที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้

ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้
ภูมิปัญญาท้องถิ่นภาคใต้ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันเกิดจากการพัฒนา การปรับตัว ปรับวิถีชีวิตของคนในภาคใต้ที่ประกอบด้วยคนไทยและอีกหลายชาติพันธุ์ที่อยู่ร่วมกันในคาบสมุทรมีคนมาเลย์ คนจีน และคนที่มาจากอินเดียฝ่ายใต้ แต่กลุ่มชนที่มีจำนวนมากที่สุดคือ ไทยสยาม โดยสภาพภูมิศาสตร์ที่เป็นแหลมทอง มีทะเลกว้างใหญ่ขนาบอยู่ทั้งสองข้าง มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งในทะเล และบนแผ่นดิน อันล้วนเป็นเขตมรสุมใกล้เส้นศูนย์สูตร มีผู้คนหลายชาติ หลายภาษา หลายวัฒนธรรมเดินทางมาทั้งทางบกและทางทะเลเพื่อมาตั้งหลักแหล่ง แสวงหาโภคทรัพย์และทำมาค้าขายเป็นเวลาติดต่อกันยาวนานกว่าพันปี มีการตั้งถิ่นฐานทำมาหากินกันหลายลักษณะ ทั้งบริเวณชายทะเล ที่ราบระหว่างชายทะเลกับเทือกเขา หลังเขา และตามสายน้ำน้อยใหญ่จำนวนมากที่ไหลจากเทือกเขาลงสู่ทะเลทั้งสองด้าน ภูมิปัญญาของภาคใต้จึงมีความหลากหลาย ทั้งที่ได้พัฒนาการจากการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ หรือคนต่างถิ่นที่พกพามาจากแหล่งอารยธรรมต่างๆ จนหลอมรวมกัน เกิดเป็นภูมิปัญญาประจำถิ่น ซึ่งมีอยู่ในหลายลักษณะ คือ
ภูมิปัญญาในด้านการดำรงชีพ
ภูมิปัญญาในด้านความสัมพันธ์และการพึ่งพา
ภูมิปัญญาในด้านหัตถกรรมพื้นบ้าน
ภูมิปัญญาในด้านสมุนไพร
ภูมิปัญญาในด้านทัศนะคติ
ภูมิปัญญาในด้านการปลูกฝังคุณธรรม
ภูมิปัญญาในด้านการดำรงชีพ

1.เครื่องตักน้ำ (ก้าน้ำ)
องค์ความรู้
ทำด้วยไม้หรือเหล็กวางไว้บนฐาน ๒ ข้างบริเวณปากบ่อน้ำ ใช้เหล็กเป็นแกนกลางและอีกด้านหนึ่งจะมีเหล็กไว้สำหรับหมุน ใช้เชือกพันรอบไม้หรือเหล็กตามความลึกของบ่อ ปลายเชือกผูกถังสำหรับตักน้ำ เมื่อต้องการตักน้ำ จะปล่อยถังลงไปในบ่อ โดยหมุนหย่อนลงไปจนถึงน้ำในบ่อ แล้วหมุนขึ้นมา สามารถช่วยทุ่นแรงได้เป็นอย่างดี
ประโยชน์
ใช้ตักน้ำ จากบ่อน้ำลึก ๆ ได้ สะดวกและทุ่นแรง นิยมใช้กันมากในชนบทในอดีตที่ยังไม่มีไฟฟ้าหรือเครื่องสูบน้ำแม้ในปัจจุบันก็ยังคงใช้ในพื้นที่ที่ไฟฟ้ายังเข้าไปไม่ถึง

2. ยาสมุนไพรซาไก
ซาไก
เป็นชนชาวป่าเผ่าหนึ่ง อาศัยอยู่ถิ่นทางภาคใต้ของประเทศไทยแถบจังหวัดพัทลุง สตูล ยะลา นราธิวาส และในเกาะสุมาตรา มาเลเซียแถบรัฐปาหังและเคดาห์บางถิ่นก็เรียกว่าพวก"เงาะ"มีชีวิตความเป็นอยู่ง่ายๆแบบชนดั้งเดิมเมื่อเจ็บป่วยก็ไม่นิยมรักษาในโรงพยาบาล ถึงแม้จะมีคนพาเข้ารักษาก็ตามเขาจะรักษากับหมอประจำเผ่าของเขา ซึ่งมี๒คน พวกเขาให้ความนับถือ คือ หัวหน้าเผ่า รองลงมาก็คือหมอ
วิธีการ
ชาวซาไกมีความรู้ความชำนาญในการใช้ยาสมุนไพรมาก อาทิเช่น ยาสมุนไพรของชาวซาไกนั้น นับได้ว่าเขาเป็นเจ้าแห่งสมุนไพรนานาชนิดทีเดียว พวกเขามีความรู้ความชำนาญในเรื่องยาสมุนไพร อาทิ เช่นยาคุมกำเนิด ภาษาซาไกเรียกว่า "อัมม์"เป็นรากไม้แข็งๆให้ผู้หญิงรับประทานกับหมากหรือแทะรับประทานเฉยๆก็ได้มีสรรพคุณในทางคุมกำเนิดถ้าต้องการมีลูกเมื่อใดก็หยุดรับประทานยาให้มีลูก เป็นรากไม้แข็ง ๆ ให้ผู้หญิงกินกับหมากหรือแทะรับประทานก็ได้ มี ๒ ขนาน คือ ขนานที่หนึ่งเรียกยา "มักม็อก" ขนานที่สองเรียก "ยังอ็อน"ยาเสริมพลังเพศ เรียกชื่อว่า "ตาง็อต" มีลักษณะเป็นหัวคล้ายหัวเผือก เปลือกสีขาว เนื้อสีขาว มีรสมันใช้แทะรับประทานหรือดองสุรา จะทำให้พลังเพศแข็งแกร่งกระชุ่มกระชวยดีนักยาเสน่ห์ เป็นน้ำมันเสน่ห์ของซาไก เป็นที่เลื่องลือกันว่ามีคุณภาพดีทำจากน้ำมันมะพร้าวเสกคาถาวิธีใช้ให้เอานิ้วแตะน้ำมันแล้วเอาไปแตะข้างหลังของคนที่เรารักให้ตรงหัวใจภายใน๓วัน๗วันคนที่ถูกแตะจะต้องคลุ้มคลั่งวิ่งมาหานอกจากนี้ยังมียาสมุนไพรของชาวซาไกมีอีกมากมายหลายขนาน เช่น ยาแก้เมื่อย ยาแก้เจ็บเส้น เป็นต้น
ประโยชน์
ซาไกเป็นชาวป่าที่ได้ชื่อว่าเป็นเจ้าแห่งสมุนไพร เนื่องจากมีความชำนาญเป็นพิเศษในเรื่องเครื่องยาสมุนไพร ซาไกจะใช้สมุนไพรรักษาโรคต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี และยังแพร่หลายไปยังชุมชนละแวกนั้น ๆ ด้วย ชาวซาไกจะเรียกชื่อสมุนไพรตามคุณภาพที่รักษา เช่น ยาไข่เหล็ก ผู้ชายแทะกินจะทำให้กระชุ่มกระชวยมีสมรรถภาพทางเพศได้ ยาคุมกำเนิด (ยาไม่ให้มีลูก) เป็นต้น



3.เรือกอและ

ลักษณะและวิธีการใช้
เรือกอและเป็นเรือประมงที่ใช้ในแถบจังหวัดภาคใต้ตอนล่างมีลักษณะเป็นเรือยาวที่ต่อด้วยไม้กระดานโดยทำให้ส่วนหัวและท้ายสูงขึ้นจากลำเรือให้ดูสวยงาม นิยมทาสีแล้วเขียนลวดลายด้วยสีฉูดฉาดเป็นลายไทยหรือลายอินโดนีเซีย ซึ่งนำมาประยุกต์ให้เหมาะกับลำเรือ เรือกอและมี ๒ แบบคือ แบบหัวสั้นและแบบหัวยาว ขนาดของเรือแบ่งเป็น ๔ ขนาด โดยยึดความยาวของลำเรือเป็นเกณฑ์ในการแบ่ง คือ ขนาดใหญ่ยาว ๒๕ ศอก ขนาดกลางยาว ๒๒ ศอก ขนาดเล็กยาว ๒๐ ศอก และขนาดเล็กมากเรียกว่า "ลูกเรือกอและ" ยาว ๖ ศอกโดยประมาณ และด้านนอกซึ่งค่อนขึ้นไปทางขอบเรือ ทำเป็นขอบนูนออกมาข้างนอก ลักษณะเป็นกันชนของเรือยาวตลอดลำเรือเรียกว่า "ปาแปทูวอ" ที่ตอนล่างของปาแปทูวอทำรอยแซะเนื้อไม้ด้วยกบให้เป็นแนวยาวตลอดลำเรือเรียกว่า "กอมา" เรือทั้งลำ แบ่งเป็น ๒ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ลูแว" ส่วนท้ายเรียกว่า "บูเระแต" ถ้าแบ่งออกเป็น ๓ ส่วน ส่วนหัวเรียกว่า "ปาลอ" ส่วนกลาง (ลำเรือ) เรียกว่า "ตือเราะ" ส่วนท้ายเรียกว่า "ปูงง"
ประโยชน์
เรือกอและส่วนใหญ่ใช้ในการประมง โดยนำออกไปทำการประมงในทะเลและนิยมทำเป็นพวก ๆ พวกละ ๕-๖ ลำ นอกจากนี้ยังใช้สำหรับแข่งขันโดยใช้ฝีพายหรือใช้ใบก็ได้ทุกครั้งที่จะออกเรือก่อนขึ้นเรือชาวประมงจะให้ความเคารพเรือกอและของตนโดยการถอดรองเท้าทุกครั้ง และเมื่อเรือจอดอยู่บนฝั่งก็ห้ามผ่านใกล้ ๆ หรือเล่นบริเวณหัวเรือ ไม่พูดจาเชิงอวดดี หรือพูดในสิ่งที่ไม่เป็นมงคล เพราะเชื่อว่ามีพระเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ให้ความคุ้มครองเรือสิงสถิตอยู่ที่หัวเรือบริเวณ "จาปิ้ง" นับได้ว่าเรือกอและเป็นเรือในจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง ซึ่งใช้ในการประมงทางทะเลของชาวประมงมุสลิมในจังหวัดภาคใต้ นับว่าเป็นเรือที่แปลกตาและหาดูได้ยากในจังหวัดอื่นๆ

4.กระบอกขนมจีน ภาษาถิ่นเรียก "บอกหนมจีน"

ลักษณะและวิธีใช้
ลักษณะกระบอกขนมจีน ทำด้วยทองเหลือง เป็นเครื่องทำแป้งให้เป็นเส้นขนมจีน โดยอาศัยแรงกดทับทำให้แป้งซึ่งอยู่ในกระบอกขนมจีนดันออกมาเป็นเส้น ทางรูที่ก้นของกระบอกที่เจาะไว้
วิธีทำกระบอกขนมจีน
๑. ขั้นตอนการทำ
๑.๑ ใช้เบ้าหล่อ
๑.๒ การกลึง
๑.๓ การถูตกแต่งด้วยตะไบ
๑.๔ การเจาะ
๒. การทำตัวกระบอก
๒.๑ ตัวกระบอกใช้เบ้าเป็น ๒ ชั้น คือเป้าชั้นนอกและเบ้าชั้นใน เบ้าชั้นนอกแกะเป็นรูปทรงกระบอกตอนล่างของตัวกระบอกทำรูปทรงกลมตอนบนเป็นโครงหุ้มปากมีสันยื่นออกมาหุ้มโดยรอบปาก
ของทรงกลม และมีสันแคบ ๆ ปิดทับสันรอบปากเป็นช่วง ๆ ด้านละ ๑ อัน ด้านบนของสันดังกล่าวมีขอบปากโผล่ให้เห็นภายในของตัวกระบอก ริม ๒ ข้างของขอบมีแผ่นทองเหลืองบาง ถูด้วยตะไบเป็นครึ่งกนกลายไทย อีกด้านหนึ่งหล่อยึดติดกับหูปากกระบอก ซึ่งเจาะเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสไว้สำหรับใส่แขนกระบอก สามารถถอดเข้าออกได้ กึ่งกลางของแขนกระบอกเจาะรูกลมใหญ่ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเกือบ ๒ เซนติเมตร สำหรับใส่เกลียว (แกนก่อให้เกิดแรงกดอัดซึ่งมีเกลียวอยู่ตลอดแกนนั้น) เกลียวมีความยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร ส่วนบนของเกลียวเป็นรูปโค้งเจาะรูตรงกลางสำหรับใส่ไม้กลมหรือเหล็กกลมขนาดนิ้วหัวแม่มือ เพื่อบิดเกลียวให้เกิดแรงอัดภายในของกระบอก เบ้าทรงกลมต้องตันตลอด เมื่อเททองเหลืองลงเบ้าและเย็นลงสนิทแล้วถอดเบ้าออกทั้งเบ้าชั้นนอกชั้นในก็จะได้รูปทรงกระบอกขนมจีนตามต้องการซึ่งลดส่วนของตัวกระบอกให้เล็กลงโดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๙ เซนติเมตรส่วนยาวของตัวกระบอกรวมถึงหูประมาณ๓๕เซนติเมตรตกแต่งพื้นผิวของทุกส่วนที่ยังขรุขระให้เรียบด้วยการกลึงถูด้วยตะไบจนมีสภาพสมบูรณ์
๒.๒ การทำส่วนประกอบภายในของกระบอกขนมจีนซึ่งมี ๒ ชิ้น ได้แก่ แป้นบนและมีแป้นล่าง รองรับเอาไว้แป้นบนมีลักษณะเป็นทรงกลมพอถอดและใส่ภายในกระบอกได้ พื้นด้านล่างแบบเรียบ หน้าบนเป็นสันนูนขึ้นเป็นหลังเต่าแล้วให้ตรงศูนย์กลางบุ๋มลงเท่ากับความโตของปลายเกลียว เพื่อให้ปลายเกลียวจับยึดไม่ให้เกลียวที่เป็นแกนแกว่งออกในขณะบิด ที่ส่วนบนของเกลียวแป้นบนนี้เป็นแผ่นตัน จะวางอยู่บนเนื้อแป้งซึ่งอัดแน่นอยู่ในกระบอกขนมจีน ปลายเกลียววางอยู่กึ่งกลางของแป้นบนอีกทอด แป้นล่างขนาดเท่ากับแป้นบนเรียบทั้ง ๒ หน้า เจาะรูรังผึ้งเท่าก้านจากเต็มพื้นที่เพื่อเป็นทางออกของเส้นขนมจีนในขณะที่ถูกแกนบิดและกดแป้นลงมาเรื่อย ๆ จนกระทั่งเมื่อหมดแป้ง แป้นบนกับแป้นล่างก็จะอยู่ชิดติดกัน

วิธีการใช้
๑. เอาแป้งข้าวเจ้าที่ต้มพอครึ่งสุกครึ่งดิบ ปั้นเป็นก้อนใส่ลงไปในกระบอกขนมจีนที่มีแป้นล่างรองรับเอาไว้
๒. เอาแป้นบนวางทับบนแป้งขนมจีน แล้วบิดเกลียวแป้นบน แกนจะถูกบิดและกดแป้นบนลงมาเรื่อย ๆ แป้งขนมจีนจะหาทางออกมาทางรูรังผึ้งที่เจาะเอาไว้ออกมาเป็นเส้นยาว ๆ โรยลงไปในกระทะน้ำเดือด ต้มจนเส้นแป้งสุกกลายเป็นเส้นขนมจีน
ประโยชน์
ขนมจีนเป็นอาหารพื้นบ้านของนครศรีธรรมราชที่คนนิยมรับประทานร้านขายขนมจีนจึงมีอยู่ทั่วไปกระบอกขนมจีนจึงมีประโยชน์ทั้งเป็นเครื่องผ่อนแรงและลดเวลาในการทำเส้นขนมจีน สามารถผลิตเส้นขนมจีนจำนวนมากในเวลารวดเร็ว

5.ชื่อ เหล็กไฟตบลักษณะและวิธีการใช้
๑. ลักษณะของเหล็กไฟตบ
เหล็กไฟตบเป็นเครื่องมือทำไฟชนิดหนึ่ง ทำจากไม้หรือเขาสัตว์เช่น วัว ควาย ขนาดกระทัดรัดที่เหมาะกับการใช้งาน จะยาวประมาณ ๑๒ เซนติเมตร แบบกลมจะเป็นแบบที่นิยมมากที่สุด
๑.๑ ส่วนประกอบของเหล็กไฟตบ ประกอบด้วย
๑) กระบอก รูปทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ตรงยอดฝังโลหะ ปลายแหลม สำหรับใช้เขี่ยปุยเชื้อไฟ ด้านล่างเจาะรูที่กึ่งกลางก้น กว้างประมาณ ๑ เซนติเมตร รูลึก ๔-๕ เซนติเมตร
๒) ก้านเหล็กไฟตบ ลักษณะกลมยาว ขนาดใส่เข้ากับรูกระบอกได้พอดี ไม่คับหรือหลวม ถ้าก้านดีตบเบา ๆ ดึงออกมาไฟก็จะติด ตรงปลายก้าน คว้านเจาะรูลึก ๑/๒ เซนติเมตร สำหรับบรรลุเชื้อไฟ ปลายก้านด้านนอกเซาะร่องเล็กรอบแกน ใช้เส้นด้ายพันให้รอบแกนและมัดให้แน่น เรียกว่า ซุย เอาขี้ผึ้งหรือไขมันวัวทาเส้นด้ายให้มันลื่น โคนเหล็กไฟตบมีขนาดใหญ่ ก้นแบนสำหรับใช้มือตบ
๓) เชื้อไฟ เรียกว่า ปุย ทำจากปุยเต่าร้างตากแห้ง โดยขูดปุยจากกาบของต้นเต่าร้าง นำปุยไปตากแดดคลุกผสมขี้เถ้าเปลือกส้มโอแห้ง โดยส่วนขี้เถ้า ๑ ส่วน ปุยเต่าร้าง ๕ ส่วน
๒. วิธีใช้เหล็กไฟตบ
บรรจุเชื้อไฟปุยเต่าร้างใส่ในรูปลายก้านเหล็กไฟตบ อัดให้แน่นแล้วนำก้านเหล็กไฟตบไปใส่ในรูกระบอก ใช้ฝ่ามือตบท้ายก้านเหล็กไฟตบ เข้าไปในรูกระบอกแล้วดึงกลับออกมาอย่างรวดเร็ว ไฟจะติดอยู่ทีปุยเต่าร้าง ใช้ยอดปลายแหลมของกระบอกเขี่ยปุยเต่าร้างที่ติดไฟออกมาจุดกับเชื้อเพลิงที่เตรียมไว้ ก็จะได้ไฟไปใช้ประโยชน์ตามความต้องการ
ประโยชน์ของเหล็กไฟตบ
๑. ในสมัยก่อนไม่มีไม้ขีดไฟ เหล็กไฟตบเป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่คิดค้น วิธีทำไฟใช้รู้จักนำสิ่งที่มีอยู่'ตามธรรมชาติอย่างเช่นปุยเต่าร้างมาสร้างสรรค์ให้เกิดประโยชน์
๒. การทำเหล็กไฟตบ จากไม้ เขาสัตว์ หรืองาช้าง ต้องใช้ความรู้ทางช่าง การตกแต่งเหล็กไฟตบให้สวยงามได้ส่วน ทั้งรูปทรงและการออกแบบที่มีความประณีต และมีหลายแบบ เช่น แบบกลม แบบเหลี่ยม แบบแบน และแบบกุบกล่อง ทำให้เหล็กไฟตบเป็นชิ้นงานที่รังสรรค์ไว้ทั้งใช้ประโยชน์และเพื่อดูเล่นสวยงาม เป็นวัตถุที่มีคุณค่าแแห่งภูมิปัญญาชาวบ้าน


6.มีดพร้านาป้อ
กลุ่มบุคคล/กลุ่มบุคคล สมาชิกกลุ่มตีเหล็กบ้านนาป้อ ตำบลควนปริง อำเภอเมือง จังหวัดตรัง
องค์ความรู้
๑. ลักษณะ
๑.๑ การทำมีดพร้า ชาวบ้านนาป้อ สืบทอดวิชาตีเหล็กทำมีดพร้ามาจากบรรพบุรุษ เหล็กที่ใช้ทำมีดพร้า ปัจจุบันนิยมใช้เหล็กผสมสำเร็จ และเหล็กแหนบรถยนต์ เชื้อเพลิงใช้ถ่านไม้ อุปกรณ์มีเตาเผา ทั่ง ค้อน การตีมีดจะใช้เหล็กดี ทำให้มีดมีความคม และใช้ทนทาน
๑.๒ลักษณะของมีดพร้านาป้อตัวมีดทำด้วยเหล็กลักษณะมีดหัวโค้งงอโดยปลายสุดงอโค้งลงเป็นจะงอยการใส่ด้ามด้ามจะทำด้วยไม้ด้ามยาวขนาดจับเหมาะมือกระชับมือ รูปทรงสวยงาม
๑.๓ ประเภทของมีดพร้านาป้อ
๑) มีดพร้าหัวแหลม ส่งขายในจังหวัดยะลา และประเทศมาเลเซีย ใช้ตราเบตง
๒) มีดพร้าหัวแหลม ส่งขายในจังหวัดกระบี่ ใช้ตราจระเข้
๓) มีดพร้าหัวตัด ส่งขายในอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสตูล จังหวัดพัทลุง ใช้ตรา ๕ ดาว และตรา ๒๒
๔) มีดพร้าหัวแหลม ส่งขายในจังหวัดสุราษฎร์ธานีและจังหวัดชุมพร ใช้ตรา ๐๐๗
๕) มีดพร้าภูเก็ต ส่งขายในจังหวัดภูเก็ต จังหวัดพังงา จังหวัดระนอง ใช้ตราหน่อไม้และตราน้ำเต้า ขนาดของมีดพร้าที่ผลิตออกมา
เบอร์ ความยาวมีด คมมีดกว้าง คอมีดกว้าง เส้นผ่าศูนย์กลางบ้องมีด
๐ ๑๕ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว ๓ นิ้ว ๓ นิ้ว
๑ ๑๔ นิ้ว ๒.๑ นิ้ว ๓ นิ้ว ๓ นิ้ว
๒ ๑๓ นิ้ว ๒ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว
๓ ๑๒ นิ้ว ๒ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว
๔ ๑๐ นิ้ว ๒ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว ๒.๕ นิ้ว
๒. วิธีการใช้ นิยมใช้กันกว้างขวางสารพัดประโยชน์ ใช้สอยในชีวิตประจำวันของคนชนบท ดังนี้
๒.๑ เป็นอุปกรณ์ในการทำสวน ทำไร่นา ใช้งานถาง ฟันต้นไม้ ตัดหญ้า ปอกมะพร้าว ปอกผลไม้ต่าง ๆ
๒.๒ ใช้เป็นอาวุธป้องกันตัว ผู้ชายชนบทในจังหวัดตรังและภาคใต้ จะนิยมใช้มีดพร้า เวลาจะออกจากบ้านทั้งไปสวนไร่นา และไปทำธุระอื่น ๆ ก็จะนำติดตัวไปด้วย
ประโยชน์
๑. ใช้ในการทำงาน เป็นเครื่องมือในการทำงาน ทำไร่นา เมื่อพบอะไรที่ต้องการฟัน ใช้ของมีคม สามารถใช้ได้ทันที
๒. เป็นอาชีพเสริม ของกลุ่มตีเหล็กบ้านนาป้อ นอกจากทำรายได้ให้ผู้ประกอบการแล้ว ยังสามารถรักษาวัฒนธรรมที่สืบทอดมาตั้งแต่บรรพบุรุษไว้ ชาวนาป้อยังได้ผลิต จอบ เสียม ขวาน มีดกรีดยาง เพื่อใช้ในการเกษตรกรรม

7.     รองเง็ง เป็นศิลปะเต้นรำพื้นเมืองของไทยมุสลิม มีความสวยงามทั้งลีลาการเคลื่อนไหวของ เท้ามือ ลำตัว และการแต่งกายคู่ชายหญิง กล่าวกันว่าการเต้นรองเง็ง สมัยโบราณเป็นที่นิยมกันในบ้านขุนนางหรือเจ้าเมืองในสี่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่นที่บ้านรายายะหริ่ง หรือพระยาพิพิธเสนามาตย์ เจ้าเมืองยะหริ่งสมัยก่อนการ เปลี่ยนแปลงการปกครอง (พ.ศ. 2439 - 2449) มีหญิงซึ่งเป็นข้าทาสบริวารฝึกรองเง็ง เพื่อไว้ต้อนรับแขกเหรื่อในงานรื่นเริงหรืองานพิธีต่าง ๆ เป็นประจำ

         ลักษณะการเล่นรองเง็งซึ่งดูคล้ายศิลปะวัฒนธรรมตะวันตกนั้น มีผู้สันนิษฐานว่าชาวโปรตุเกส หรือชาวสเปน ได้นำมาเผยแพร่ในประเทศชวา มลายูก่อนโดย เฉพาะเมื่อถึงวันรื่นเริงปีใหม่ พวกฝรั่งเต้นรำอย่างสนุกสนาน เช่นเต้นรำลาฆูดูวอ เป็นเพลงไพเราะน่าชมน่าฟังชาวพื้นเมืองบังเกิดความสนใจและได้ฝึกซ้อมจนกระทั่ง ของศิลปะรองเง็งหรือรองเกงขึ้น

         ส่วนรองเง็งในประเทศไทยนิยมเต้นกันในบ้านขุนนางมุสลิมไทยดังกล่าวข้างต้น ต่อมาได้แพร่หลายสู่ชาวบ้านโดยอาศัยการแสดงมะโย่ง หรือ มโนราไทยมุสลิม มะโย่งแสดงเป็นเรื่องและมีการพักครั้งละ 10 - 15 นาที ระหว่างที่พักนั้นจะสลับฉากด้วยรองเง็ง เมื่อดนตรีขึ้นเพลงรองเง็งฝ่ายหญิงที่แสดงมะโย่งจะลุกขึ้นเต้นจับคู่ กันเอง เพื่อให้เกิดความสนุกสนานยิ่งขึ้น จึงเชิญชายผู้ชมเข้าร่วมวงด้วย ในที่สุดรองเง็งเป็นการเต้นรำที่ถูกอกถูกใจของชาวบ้าน แต่ไม่ถึงขั้นมีการจูบดังบท พระราชนิพนธ์ดังกล่าว ภายหลังมีการจัดตั้งคณะรองเง็งรับจ้างเล่นในงานต่าง ๆ ทำนองรำวง ซึ่งแพร่หลายอยู่จนปัจจุบัน

8.โนรา หรือ มโนห์รา (เขียนเป็น มโนรา หรือ มโนราห์ ก็ได้) เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่สืบ ทอดกันมานานและนิยมกันอย่างแพร่หลายใน ภาคใต้ เป็นการละเล่นที่มีทั้งการร้อง การรำ บางส่วนเล่นเป็นเรื่อง และบางโอกาสมีบางส่วน แสดงตามคติความเชื่อที่เป็นพิธีกรรม
โนรา เป็นศิลปะพื้นเมืองภาคใต้เรียกว่า โนรา แต่ คำว่า มโนราห์ หรือ มโนห์รา นั้น เป็นคำที่เกิด ขึ้นมาเมื่อสมัยกรุงศรีอยุธยา โดยการนำเอา เรื่อง พระสุธน-มโนราห์ มาแสดงเป็นละครชาตรี จึงมีคำเรียกว่า มโนราห์ ส่วนกำเนิดของโนรานั้น สันนิษฐานกันว่าได้รับอิทธิพลจากการ ร่ายรำของอินเดียโบราณก่อนสมัยศรีวิชัย ที่มา จากพ่อค้าชาวอินเดีย สังเกตได้จากเครื่องดนตรีที่ เรียกว่า เบ็ญจสังคีตซึ่งประกอบโหม่ง ฉิ่ง ทับ กลอง ปี่ ใน ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีโนรา และท่ารำของโนรา อีกหลายท่าที่ละม้ายคล้ายคลึงกับการร่ายรำของ ทางอินเดีย และเริ่มมีโนราเป็นกิจลักษณะขึ้นเมื่อ ประมาณปี พุทธศักราชที่ ๑๘๒๐ ซึ่งตรงกับสมัยสุโขทัยตอนต้น
เชื่อกันว่าโนราเกิดขึ้นครั้งแรกที่ หัวเมืองพัทลุง ปัจจุบันคือ ตำบล บางแก้ว จังหวัด พัทลุง แล้ว แพร่ขยายไปยังหัวเมืองอื่นๆของภาคใต้ จน ไปถึงภาคกลาง และกลายเป็นละครชาตรี และจังหวะ ตะลุง ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ โนรา เกิดขึ้นในราชสำนักของพัทลุงซึ่งมีตำนานเล่า กันมาว่า เจ้าเมืองพัทลุง มีชื่อว่า พระยา สายฟ้าฟาด มีลูกสาวที่ชื่อ ศรีมาลา ซึ่ง มีความสามารถในการร่ายรำมาก ได้เกิดตั้งครรภ์โดยที่ยังไม่ได้แต่งงาน เชื่อกันว่า เป็นท้องกับเทวดา พระยาสายฟ้าฟาดเห็นดัง นั้นก็โกรธมาก สั่งให้นำนางศรีมาลาไป ลอยแพในทะเล ( คือ ทะเลสาปสงขลา) และ แพได้ไปติดที่เกาะใหญ่ นางศรีมาลาก็ ได้ให้กำเนิดลูกชาย โดยตั้งชื่อว่า เทพสิงหล ซึ่งมีนัยความว่า ลูกของเทวดา นางศรีมาลา ได้ฝึกให้เทพสิงหลฝึกร่ายรำ ซึ่งเทพสิงหล ก็สามารถร่ายรำได้สวยงามมาก และร่ายรำ มีชื่อเสียงมากที่เกาะใหญ่ จนรู้ไปถึง หูพระยาสายฟ้าฟาด ซึ่งพระยาสายฟ้า ฟาดก็ยังไม่รู้ว่าหลานตัวเอง ก็ได้ เชิญไปรำในราชสำนัก ฝ่ายนางศรีมาลานั้น ก็น้อยเนื้อต่ำใจเมื่อครั้งที่ถูกลอยแพ ก็บอกกับคนที่มาติดต่อว่า โนราคณะ นี้จะไปรำได้ แต่ต้องปูผ้าขาวตั้ง แต่ริมฝั่งที่ลงจากเรือจนไปถึงตำหนัก พระยาสายฟ้าฟาดก็ตอบตกลง ดังนั้น เทพสิงหลจึงไปรำในราชสำนัก เทพสิงหลรำ ได้สวยงามมาก จนพระยาสายฟ้าฟาดก็ ตกตะลึงในความสวยงาม จึงถอดเครื่องทรงที่ ทรงอยู่ให้กับเทพสิงหล แล้วบอกว่า "เครื่อง แต่งกายกษัตริย์ชุดนี้มอบให้เป็นเครื่องแต่งกาย ของโนรานับแต่นี้เป็นต้นไป" เทพสิงหลจึง บอกว่าแท้จริงแล้วเป็นหลานของพระยาสาย ฟ้าฟาด พระยาสายฟ้าฟาดจึงรับโนราไว้ ในราชสำนักและให้สิทธิแต่งกายเหมือนกษัตริย์ทุก ประการ


      9.   หนังตะลุง คือ ศิลปะการแสดงประจำท้องถิ่นอย่างหนึ่งของภาคใต้ เป็นการเล่าเรื่องราวที่ผูกร้อยเป็นนิยาย ดำเนินเรื่องด้วยบทร้อยกรองที่ขับร้องเป็นสำเนียงท้องถิ่น หรือที่เรียกกันว่าการ "ว่าบท" มีบทสนทนาแทรกเป็นระยะ และใช้การแสดงเงาบนจอผ้าเป็นสิ่งดึงดูดสายตาของผู้ชม ซึ่งการว่าบท การสนทนา และการแสดงเงานี้ นายหนังตะลุงเป็นคนแสดงเองทั้งหมด
ประวัติความเป็นมาของหนังตะลุง
         นักวิชาการหลายท่านเชื่อว่า มหรสพการแสดงเงาจำพวกหนังตะลุงนี้ เป็นวัฒนธรรมเก่าแก่ของมนุษยชาติ เคยปรากฏแพร่หลายมาทั้งในแถบประเทศยุโรป และเอเชีย โดยอ้างว่า มีหลักฐานปรากฏอยู่ว่า เมื่อครั้งพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราชมีชัยชนะเหนืออียิปต์ ได้จัดให้มีการแสดงหนัง(หรือการละเล่นที่คล้ายกัน)เพื่อเฉลิมฉลองชัยชนะและประกาศเกียรติคุณของพระองค์ และเชื่อว่า มหรสพการแสดงเงานี้มีแพร่หลายในประเทศอียิปต์มาแต่ก่อนพุทธกาล ในประเทศอินเดีย พวกพราหมณ์แสดงหนังที่เรียกกันว่า ฉายานาฏกะ เรื่องมหากาพย์รามายณะ เพื่อบูชาเทพเจ้าและสดุดีวีรบุรุษ ส่วนในประเทศจีน มีการแสดงหนังสดุดีคุณธรรมความดีของสนมเอกแห่งจักรพรรดิ์ยวนตี่ (พ.ศ. 411 - 495) เมื่อพระนางวายชนม์
         ในสมัยต่อมา การแสดงหนังได้แพร่หลายเข้าสู่ในเอเชียอาคเนย์ เขมร พม่า ชวา มาเลเซีย และประเทศไทย คาดกันว่า หนังใหญ่คงเกิดขึ้นก่อนหนังตะลุง และประเทศแถบนี้คงจะได้แบบมาจากอินเดีย เพราะยังมีอิทธิพลของพราหมณ์หลงเหลืออยู่มาก เรายังเคารพนับถือฤาษี พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม ยิ่งเรื่องรามเกียรติ์ ยิ่งถือว่าเป็นเรื่องขลังและศักดิ์สิทธิ์ หนังใหญ่จึงแสดงเฉพาะเรื่องรามเกียรติ์ เริ่มแรกคงไม่มีจอ คนเชิดหนังใหญ่จึงแสดงท่าทางประกอบการเชิดไปด้วย
         เชื่อกันว่าหนังใหญ่มีอยู่ก่อนสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เพราะมีหลักฐานอ้างอิงว่า มีนักปราชญ์ผู้หนึ่งเป็นชาวเวียงสระ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป็นผู้เชี่ยวชาญทางโหราศาสตร์และทางกวี สมเด็จพระเจ้าปราสาททองทรงเรียกตัวเข้ากรุงศรีอยุธยา ต่อมาได้เป็นพระอาจารย์ของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้รับการแต่งตั้งเป็นพระมหาราชครูหรือพระโหราธิบดี และมีรับสั่งให้พระมหาราชครูฟื้นฟูการเล่นหนัง(หนังใหญ่)อันเป็นของเก่าแก่ขึ้นใหม่ ดังปรากฏในสมุทรโฆษคำฉันท์ว่า..
         ไหว้เทพยดาอา- รักษ์ทั่วทิศาดร
         ขอสวัสดิขอพร ลุแก่ใจดั่งใจหวัง
         ทนายผู้คอยความ เร่งตามไต้ส่องเบื้องหลัง
         จงเรืองจำรัสทั้ง ทิศาภาคทุกพาย
         จงแจ้งจำหลักภาพ อันยงยิ่งด้วยลวดลาย
         ให้เห็นแก่ทั้งหลาย ทวยจะดูจงดูดี
         หนังใหญ่ แต่เดิมเรียกว่า "หนัง" นิยมเล่นกันแพร่หลายในแถบภาคกลาง ส่วนหนังตะลุง แต่เดิมคนในท้องถิ่นภาคใต้ก็เรียกสั้นๆว่า "หนัง" เช่นกัน ดังคำกล่าวที่ได้ยินกันบ่อยว่า "ไปแลหนังโนรา" จึงสันนิษฐานว่า คำว่า "หนังตะลุง" คงจะเริ่มใช้เมื่อมีการนำหนังจากภาคใต้ไปแสดงให้เป็นที่รู้จักในภาคกลาง จึงได้เกิดคำ "หนังตะลุง" และ "หนังใหญ่" ขึ้นมาเพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกัน หนังจากภาคใต้เข้าไปเล่นในกรุงเทพฯ ครั้งแรกสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระยาพัทลุง (เผือก) นำไปเล่นที่แถวนางเลิ้ง หนังที่เข้าไปครั้งนั้นเป็นนายหนังจากจังหวัดพัทลุง คนกรุงเทพฯจึงเรียก "หนังพัทลุง" ต่อมาเสียงเพี้ยนเป็น "หนังตะลุง"
         เชื่อกันว่า หนังตะลุงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่ โดยย่อรูปหนังให้เล็กลง ในยุคแรกๆคงแสดงเรื่องรามเกียรติ์เหมือนกัน แต่เปลี่ยนบทพากย์มาเป็นภาษาท้องถิ่น เปลี่ยนเครื่องดนตรีจาก พิณพาทย์ ตะโพน มาเป็น ทับ กลอง ฉิ่ง โหม่ง ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีที่มีอยู่เดิมในภาคใต้ หลักฐานที่บอกว่าหนังตะลุงคงเลียนแบบมาจากหนังใหญ่ คือ แม้หนังตะลุงจะไม่ได้ใช้ พิณพาทย์ ตะโพน แต่ในโองการร่ายมนต์พระอิศวร(บทบูชาพระอิศวร) ก็ยังมีบทที่ว่า..
         อดุลโหชันชโนทั้งผอง พิณพาทย์ ตะโพน กลอง
         ข้าจะเล่นให้ท่านทั้งหลายดู
         ต่อมา หนังภาคใต้หรือหนังตะลุง รับอิทธิพลของหนังชวาเข้ามาผสมผสาน จึงทำให้เกิดวิวัฒนาการใน "รูปหนัง" ขึ้นมา รูปหนังใหญ่จะเป็นแผ่นเดียวกันทั้งตัว เคลื่อนไหวอวัยวะไม่ได้ แต่รูปหนังชวาเคลื่อนไหวมือและปากได้ ส่วนใหญ่รูปหนังจะเคลื่อนไหวมือได้เพียงข้างเดียว ยกเว้นรูปกาก หรือตัวตลก และรูปนางบางตัว ที่สามารถขยับมือได้ทั้งสองข้าง รูปหนังชวามีใบหน้าที่ผิดไปจากคนจริง และหนังตะลุงก็รับแนวคิดนี้มาปรับใช้กับรูปตัวตลก เช่น แกะรูปหนูนุ้ยให้หน้าคล้ายวัว เท่งหน้าคล้ายนกกระฮัง เป็นต้น
         หนังตะลุงเกิดขึ้นเมื่อใดนั้น ยังไม่มีหลักฐานยืนยันแน่ชัด นักวิชาการสันนิษฐานว่าคงเป็นช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ เพราะกลอนหนังตะลุงนิยมแต่งเป็นกลอนแปด ซึ่งในสมัยอยุธยากลอนแปดไม่ได้เป็นที่นิยมแพร่หลาย ยิ่งในภาคใต้ วรรณกรรมพื้นบ้านรุ่นเก่าแก่ล้วนแต่งเป็นกาพย์ทั้งสิ้น กลอนแปดเพิ่งมาเป็นที่นิยมกันอย่างกว้างขวางก็เมื่อหลังสุนทรภู่แต่งเรื่องพระอภัยมณีออกเผยแพร่แล้วนี่เอง
10. อีฉุด
ภาค      ภาคใต้
จังหวัด   กระบี่
·         วิธีการเล่น
ผู้เล่นตกลงกันว่าใครจะเป็นผู้เล่นก่อนหลัง โดยผู้เล่นมีลูกเกยคนละลูก หลังจากนั้นก็ขีดตารางเป็นช่องสี่เหลี่ยมจำนวน ๖ ช่อง หรือเรียกว่า ๖ เมือง โดยแบ่งเป็นซีกซ้าย ๓ เมือง ซีกขวา ๓ เมือง
การเริ่มเล่น ผู้เล่นคนที่ ๑ เริ่มเล่นโดยการทอยลูกเกยลงไปในเขตเมืองที่ ๑ แล้วกระโดดยืนเท้าเดียวในเมืองที่ ๑ หลังจากนั้นใช้ปลายเท้าฉุดลูกเกยให้ผ่านไปในเขตเมืองที่ ๒ ๓ ๔ ๕ ๖ ตามลำดับแล้วก็ฉุดลูกเกยออกจากเขตเมืองที่ ๖ ต่อไปผู้เล่นคนเดิม ต้องทอยลูกเกยลงในเมืองที่ ๒ แล้วกระโดดยืนเท้าเดียวในเมืองที่ ๑ กระโดดต่อไปในเมืองที่ ๒ หลังจากนั้นก็เล่นเหมือนเดิมไปเรื่อยๆทุกเมือง จนถึงเมืองที่ ๖ เมื่อทอยลูกเกยและฉุดได้ครบทั้ง ๖ เมืองแล้วให้ผู้เล่นกระโดดด้วยเท้าข้างเดียวจังหวะเดียวลงบนเมืองที่ ๑ ถึง เมืองที่ ๖ ตามลำดับ ห้ามกระโดดหลายครั้งมิฉะนั้นถือว่า ตาย ต้องให้คนอื่นๆเล่นต่อ ถ้าเล่นครบท่านี้แล้วไม่ตาย ให้เล่นในท่าต่อไป คือ เอาลูกเกยวางบนหลังเท้าแล้วสาวเท้าลงในเมืองทั้ง ๖ เมือง ตามลำดับ แต่เท้าหนึ่งลงในเมืองหนึ่งได้เพียงครั้งเดียว เช่น เท้าซ้ายเหยียบลงในเมืองที่ ๑ เท้าขวาเหยียบลงในเมืองที่ ๒ เท้าซ้ายเหยียบลงในเมืองที่ ๓ สลับกันไปเช่นนี้จนกว่าจะครบทุกเมือง ลูกเกยนั้นต้องไม่ตกจากหลังเท้าและเท้านั้นต้องไม่เหยียบเส้น ท่าต่อไปนั้นให้ผู้เล่นปิดตา เดินที่ละก้าวโดยไม่ต้องวางลูกเกยบนหลังเท้าขณะเดินขณะที่ก้าวเท้าลงในแต่ละ เมืองผู้เล่นนั้นต้องถามว่า "อู่ บอ" หมายความว่า เหยียบเส้นหรือไม่ ถ้าไม่เหยียบผู้เล่นคนอื่นๆจะตอบว่า "บอ" ถ้าเหยียบเส้นตอบว่า "อู่" เมื่อผู้เล่นที่ปิดตาเหยียบเส้นถือว่า ตาย ต้องเปลี่ยนให้คนอื่นๆเล่นต่อไป ถ้าเล่นยังไม่ตายผู้เล่นนั้นมีสิทธิ์ในการจองเมือง โดยผู้เล่นนั้นต้องเดินเฉียงไปแบบสลับฟันปลาไปตามช่องต่างๆ ให้ลงเท้าได้เพียงเท้าเดียว เช่น ลงเท้าซ้ายในเมืองที่ ๑ ลงเท้าขวาในเมือ งที่ ๓ และลงเท้าซ้ายในเมืองที่ ๕ แล้วกระโดดสองเท้าลงในหัวกระโหลก กระโดดเท้าพร้อมกับหันหลัง และผู้เล่นก็โยนลูกเกยข้ามศีรษะของตน
เองถ้าลูกเกยไปตกอยู่ในเมืองใดเมืองหนึ่ง เมืองนั้นจะเป็นของผู้เล่นทันที ดังนั้นผู้เล่นมีสิทธิ์ยืนสองเท้าในเมืองนั้นได้ เมื่อได้เมืองแล้วก็ให้เล่นอย่างนั้นต่อไป จนกว่าจะตายจึงจะต้องเปลี่ยนให้ผู้อื่นเล่นต่อ
·         โอกาสหรือเวลาที่เล่น
ในการเล่นอีฉุดนั้นไม่มีการกำหนดโอกาสและเวลาที่เล่น เพราะสามารถเล่นได้ในทุกโอกาสและการเล่นอีฉุดนั้นเป็นการเล่นของเด็กที่นิยม กันมากในท้องถิ่นจังหวัดกระบี่
·         คุณค่าและแนวคิด
ในการเล่นอีฉุดนั้นก่อให้เกิดความสามัคคี ความรักความผูกพันธ์กันในหมู่คณะและเป็นการฝึกความสัมพันธ์ของร่างกายในส่วน ต่างๆ ทั้ง มือ เท้า และสมอง ได้เป็นอย่างดี
11.ชื่อ ขว้างราว
ภาค ภาคใต้
จังหวัด กระบี่

อุปกรณ์และวิธีเล่น
ขว้างราว เป็นการเล่นที่นิยมของเด็กในจังหวัดกระบี่ กล่าวคือ นำไม้ไผ่มาผ่าเกลาให้
มีขนาดกว้าง ๑ นิ้วยาว ๓๐ เซนติเมตร ทำเป็นราวการเล่นไม่จำกัดจำนวนผู้เล่นส่วน
ใหญ่ประมาณ ๓-๕ คน นำราวมาตั้งโดยมีหินรองปลายราวทั้ง ๒ ข้างให้สูงจากพื้นดิน
ประมาณ ๓ นิ้ว แล้วขีดเส้นเป็นเขตสำหรับยืนขว้างให้ห่างจากราวประมาณ ๕ เมตร หลังจากนั้นก็นำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ไปวางบนราวตามที่ได้ตกลงกันว่าวางคนละกี่เมล็ด จากนั้นก็เริ่มขว้างถ้าคนแรกขว้างถูกและควํ่าหมดถือว่าจบเกมส์คนขว้างจะได้เมล็ดมะม่วง
หิมพานต์ทั้งหมด ผู้เล่นแต่ละคนต้องนำเมล็ดมะม่วงหิมพานต์ไปวางบนราวใหม่ แต่ถ้าขว้าง
ไม่ถูกหรือควํ่าไม่หมดคนที่สองก็ขว้างต่อ จนกระทั่งควํ่าหมดจึงเริ่มเล่นใหม่

โอกาสและเวลาที่เล่น
การเล่นขว้างราว นิยมเล่นกันในช่วงฤดูที่มะม่วงหิมพานต์ออกผล ไม่จำกัดเวลาในการเล่น

คุณค่าและแนวคิด
การเล่นขว้างราวเป็นการฝึกสมาธิ ความแม่นยำและความสัมพันธ์กันระหว่างสายตากับมือ
และก่อให้เกิดความสามัคคีกันในหมู่คณะ

12.หมากขุมเป็นการละเล่นพื้นเมืองชนิดหนึ่งของชาวภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดชุมพรลงไปจนถึงจังหวัดนราธิวาส และพบในจังหวัดภาคกลางตอนใต้คือ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ แต่เรียกชื่อผิดเพี้ยนกันไปบ้าง ชาวภาคใต้เรียกการเล่นชนิดนี้ว่า หมากขุม ส่วนชาวจังหวัดประจวบคีรีขันธ์เรียก หมากหลุม ซึ่งคำว่าขุม กับ หลุม มีความหมายเดียวกัน
หมากขุม จะมีที่มาอย่างไรและเกิดขึ้นที่ใดก่อนไม่ปรากฏหลักฐาน เห็นแต่นิยมเล่นกันในครัวเรือนทั่วทั้งภาค ปัจจุบันการเล่นหมากขุมลดน้อยลงมาก เพราะมีการละเล่นใหม่ ๆ และสื่อของความสนุกสนานเพลิดเพลินเข้ามามาก เช่น การเล่นเกมส์ต่าง ๆ ในโทรทัศน์ อันเป็นสิ่งที่ทันสมัยและให้ความเพลิดเพลินมากกว่า อีกทั้งการเล่นหมากขุมเล่นได้เพียงครั้งละสองคนเท่านั้น
อุปกรณ์ในการเล่นหมากขุม ประกอบด้วย รางหมากขุมและลูกหมากขุม
รางหมากขุม มีรูปร่างลักษณะคล้ายเรือพายยาวประมาณ 90 ถึง 100 เซนติเมตร กว้างประมาณ 20 เซนติเมตร ทำจากท่อนไม้ผ่าซีก นิยมไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้หลุมพอ ไม้ตะเคียน เป็นต้น เพื่อความทนทาน
วิธีทำ เมื่อได้ท่อนไม้มีความยาวตามที่ต้องการแล้ว ใช้เลื่อยเลื่อยไม้ออกเป็นสองซีก แล้วใช้ขวานถากไม้ให้เป็นรูปเรือก้นแบน ถากที่ก้นจนเรียบ เพื่อว่าเมื่อวางแล้วรางหมากขุมจะตั้งตรง ไม่โคลงเคลง ถากหัวท้ายทั้งสองข้างให้เป็นรูปรีปลายมนให้เท่ากัน ต่อจากนั้นกะขนาดขุมทั้งสองด้าน ด้านละเจ็ดขุมให้มีขนาดพอที่มือผู้ใหญ่ควักลงไปได้ ทางหัวรางทั้งสองข้างกะให้เป็นขุมขนาดใหญ่พอที่จะบรรจุลูกหมากขุมได้ทั้ง 98 ลูก การกะขุมต้องวางโครงร่างให้ดีคือ ให้มีขุมเท่ากันและระยะระหว่างขุมเท่ากัน โดยใช้ดินสอเขียนวงกลมทุกขุม แล้วใช้สิ่วกับค้อนตอกขุดไม้เป็นขุมกลม ๆ บางคนใช้เหล็กเผาไฟจนแดงแล้วจิ้มลงไปในเนื้อไม้จนเกิดรอยไหม้ก่อน แล้วจึงใช้ค้อนตอกสิ่วลงไปสกัดเนื้อไม้ออก ขุดเรียงไปตามความยาวของรางทั้งสองด้านด้านละเจ็ดขุม ตรงหัวรางทั้งสองด้านเป็นขุมใหญ่เป็นเรือนสำหรับเก็บลูกหมากขุมเรียกว่า หัวแม่เรินหรือหัวแม่เรือน เมื่อขุดเรียบร้อยต้องใช้กระดาษทรายขัดถูให้ไม้เรียบไม่ให้มีเสี้ยนไม้เหลืออยู่เลย และต้องขัดจนเกลี้ยงเกลาเป็นมัน ปัจจุบันไม้เนื้อแข็งหายากเข้าทุกที มีผู้ทำจำหน่ายโดยใช้ไม้เนื้อเบาบาง ทาน้ำยาขัดมันและวาดลวดลายเพื่อให้ดูงดงาม แต่ของเดิมไม้เป็นมัน เพราะการขัดและการเล่นนาน ๆ เข้าไม้ก็มันไปเอง
ลูกหมากขุม นิยมใช้ลูกสวาดซึ่งมีลักษณะกลมรี เปลือกแข็งเป็นสีเทาเจือสีเขียว สวาด (Caesalpinia crista) เป็นไม้เถาเนื้อแข็ง ลำต้นมีหนาม ฝักมีหนามละเอียด เมล็ดกลมเปลือกแข็งสีเทาอมเขียว เมล็ดสวาดได้มาจากฝักที่แก่จัดแล้วมีน้ำหนักเบา ปัจจุบันหาได้ยาก สวาดขึ้นในป่า เมื่อป่าน้อยลงไป ต้นสวาดก็พลอยหายากไปด้วย ยังพอจะหาได้ที่จังหวัดยะลา และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชาวยะลาเรียก ลูกหวาด แต่คนทางภาคใต้ตอนบนและตอนกลางตั้งแต่จังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง เรียก ลูกสวด เป็นคำย่อมาจากสวาดทั้งสองคำ ลูกสวาดที่แกะออกมาจากเปลือกใหม่ ๆ จะคายมือ แต่เมื่อเล่นไปนาน ๆ ลูกจะลื่นเป็นมัน ทำให้หยอดลูกลงขุมได้รวดเร็วขึ้น บางแห่งหาลูกสวาดไม่ได้ใช้ลูกแก้วแทน แต่ลูกแก้วมีน้ำหนักมาก ควักยากและเวลาหยอดลงหลุมมีเสียงดัง ไม่ไพเราะอย่างลูกสวาด
วิธีเล่น เล่นทีละสองคน โดยนั่งหันหน้าเข้าหากัน เรือนของแต่ละคนอยู่ทางซ้ายมือ นับลูกสวาดลงในขุม ๆ ละเจ็ดลูก ครบทั้ง 14 ขุม เริ่มการเล่นด้วยการนับ 1 ถึง 3 แล้วลงมือเดินหมากพร้อมกัน ใครจะควักขุมไหนก่อนก็ได้ (ต้องใช้คำว่า ควัก เพราะต้องใช้มือควักลงไปในขุม จะใช้ตัก ล้วง หรือหยิบก็ไม่ถูกต้องลักษณะของการเล่นประเภทนี้) เมื่อควักลูกออกมาแล้ว เดินหมากขุมอย่างรวดเร็ว การแจกลูกสวาดลงไปในขุมทุกขุมเรียกว่า เดินหมากขุม การเดินหมากขุมนี้จะเดินข้ามขุมใดขุมหนึ่งไม่ได้ ต้องหยอดลงทุกขุม เมื่อเดินหมากไปหมดในขุมที่มีลูกก็ควบเอาลูกหมากขุมเดินต่อไป ถ้าเดินหมากไปหมดในขุมว่าง ไม่มีหมากเลยเรียกว่า ตาย ต้องหยุดเดิน อีกฝ่ายหนึ่งก็เดินหมากต่อไป ถ้าถึงขุมว่างเปล่าก็ต้องตายอีก ถ้าเล่นตายทางฝ่ายตนเองหากมีลูกอยู่ในขุมตรงกันข้าม ก็จะกินลูกของฝ่ายนั้นได้หมด แต่ถ้าไปตายทางฝ่ายตรงกันข้ามก็ถือว่าตายเปล่า
การเล่นหมากขุม ผู้เล่นต้องพยายามเดินหมากให้ขึ้นเรือนของตนเองมากที่สุด ฝ่ายใดมีหมากหรือลูกสวาดในเรือนของตัวเองมาก ฝ่ายนั้นชนะ บางทีเล่นกันจนอีกฝ่ายหนึ่งไม่มีหมากเหลือเลยหรือเหลือไม่ถึง 7 ลูก เรียกว่า คอขาด ก็ต้องเป็นฝ่ายแพ้ไป
การเล่นหมากขุมสนุกตั้งแต่เริ่มเล่นจนจบรอบ เพราะเมื่อเริ่มเล่นต้องแข่งความเร็วกันในการหยอดลูกลงขุม และจะไม่ยอมตายก่อน จนมือของทั้งสองฝ่ายพัลวันกัน การจบรอบคือการเดินลูกหมากขุมขึ้นเรือนจนหมด ผู้ที่ยังมีลูกหมากขุมเหลืออยู่ในรางจะเป็นฝ่ายได้เดินก่อนในรอบต่อไป จึงต้องมีกลวิธีในการเล่น เมื่อขึ้นรอบใหม่ผู้เล่นทั้งสองฝ่ายแจกลูกลงในขุม ๆ ละเจ็ดลูกเหมือนเดิน ฝ่ายที่ไม่มีลูกแจกครบทุกขุม เรียกว่าเป็น ม่าย เช่น ขาดลูกไปหนึ่งขุมก็เป็นม่ายหนึ่งขุม ขาดลูกไปสองขุมก็เป็นม่ายสองขุม ต้องเอาของอย่างใดอย่างหนึ่งใส่ลงไปในขุมที่เป็นม่ายขุมแรก เพื่อให้เป็นเครื่องหมายสังเกตได้ง่าย เวลาเดินหมากต่อไปจะไม่เดินลูกลงในขุมที่เป็นม่าย
ผู้เล่นหมากขุมต้องมีกลวิธีในการเล่นว่าจะเดินขุมไหนก่อน และกะให้ลูกเดินขึ้นเรือนได้พอดี และหากลวิธีที่จะเดินหมากโดยมิให้อีกฝ่ายได้มีโอกาสเดินเลย บางครั้งเล่นเพียงสองสามรอบ อีกฝ่ายก็ต้องคอขาดเสียแล้ว แต่ถ้าไมีมีกลวิธีในการเล่นมักจะเล่นกันไปเรื่อย ๆ บางทีเล่นทั้งวันก็ไม่สามารถทำให้อีกฝ่ายคอขาดได้เลย
การเล่นหมากขุมต้องมีความซื่อสัตว์ต่อกัน ไม่โกงกัน เช่น ผู้เล่นเดินหมากไปจนถึงขุมว่าง แต่แกล้งทำเป็นเดินต่อไปควักหมากอีกขุมหนึ่ง โดยที่อีกฝ่ายดูไม่ทัน เพราะการเดินหมากขุมถ้าผู้เล่น ๆ ชำนาญจะหยอดลูกได้เร็วมาก และหยอดเรื่ย ๆ ปากขุมไม่ยกมือขึ้นสูง ทำให้คู่ต่อสู้ดูไม่ทัน เป็นการเล่นโกงได้ จึงต้องมีความซื่อสัตย์ต่อกัน
การเล่นหมากขุมมักมีคนดูหรือผู้สนับสนุนแต่ละฝ่ายคอยให้กำลังใจ ถ้าใครเล่นชนะอีกฝ่ายจนถึงคอขาด ก็จะพลอยสนุกสนานไปด้วย ผู้เล่นจึงต้องเล่นอย่างใจเย็น เช่นเดียวกับการเล่นหมากรุกและสกา
การเล่นหมากขุม เล่นได้ตั้งแต่เด็กเล็กที่พอจะนับเลขได้จนถึงหนุ่มสาวและคนชรา ส่วนมากผู้ชรามักจะมีลูกหลานมานั่งเล่นเป็นเพื่อนให้คลายความเหงาและคลายเครียด
ประโยชน์ของการเล่นหมากขุม มีหลายประการดังนี้
ประการแรก เป็นการสนุกสนานพักผ่อนหย่อนใจในยามว่าง แต่ไม่ควรจะเพลิดเพลินนั่งเล่นทั้งวัน จนทำให้เสียงานเสียการ
ประการที่สอง ถ้าผู้เล่นเป็นเด็กทำให้รู้จักคิดเลขไปในตัวตั้งแต่การแจกลูกขุมละเจ็ดลูก และเมื่อเล่นไปก็คิดคำนวณได้ว่า ในขุมนั้นมีลูกอยู่เท่าใด เป็นการฝึกสมองด้านคณิตศาสตร์
ประการที่สาม ทำให้ตาไว เช่น ดูการเล่นของคู่ต่อสู้ได้ทัน ไม่ถูกโกง และสามารถนับลูกหมากขุมที่อยู่ในขุมได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งมองดูขุมที่จะเดินต่อไปได้แม่นยำว่าขุมใดเป็นขุมตายหรือขุมเป็น ทำให้เกิดตาไวและสมองไว เพราะในการเล่นมีกติกาห้ามนับลูก เป็นการเอาเปรียบฝ่ายตรงกันข้าม
ประการที่สี่ เป็นการประหยัด ผู้ปกครองไม่ต้องซื้อของเล่นที่มีราคาแพง เป็นการสิ้นเปลือง ทั้งในวันหยุดลูกหลานก็ได้อยู่กับบ้านเล่นหมากขุม ไม่ต้องออกไปเที่ยวเตร่
ประการที่ห้า ลูกหลานรู้จักเก็บงำข้าวของให้มีระเบียบ เมื่อเล่นหมากขุมเสร็จแล้ว ผู้เล่นต้องรู้จักเก็บรางหมากขุมและลูกให้เรียบร้อย เช่น รางหมากขุมอาจจะสอดไว้ใต้โต๊ะ ในตู้ มิให้วางเกะกะ ลูกหมากขุมก็เก็บใส่กล่องไว้โดยนับจำนวนให้ครบเพื่อได้เล่นในโอกาสต่อไป
การเล่นหมากขุมมิใช่เป็นการพนัน นอกจากว่าก่อนเล่นจะมีการสัญญากันว่าผู้แพ้ต้องถูกเขกหัวเข่า หรือต้องดื่มน้ำหนึ่งแก้ว บางทีเล่นกันจนผู้แพ้ทุกรอบต้องดื่มน้ำกันจนพุงกาง
คำศัพท์ที่ใช้ในการเล่นหมากขุม
1. แจกหมาก คือ การนำลูกหมากขุมใส่ลงในขุมให้ครบตามจำนวนขุมละเจ็ดลูก
2. เดินหมาก คือ การหยอดลูกหมากขุมลงในแต่ละขุม
3. กุก คือ การควบลูกหมากขุมที่มีเพียงลูกเดียวในขุมหลังเข้าด้วยกันกับขุมหน้า แล้วเดินหมากต่อไป
4. เป็นม่าย คือ เมื่อจบรอบการเล่น ฝ่ายใดไม่มีลูกสำหรับแจกหมากลงในขุมจำนวนกี่ขุมเรียกว่าเป็นม่ายเท่านั้นขุม เช่น เป็นม่าย 1 ขุม เป็นม่าย 2 ขุม
5. ตาย คือ การเดินหมากสิ้นสุดลงในขุมว่าง
6. คอขาด คือ การที่ฝ่ายหนึ่งสามารถเดินหมากขุมจนอีกฝ่ายหนึ่งเหลือลูกหมากขุมไม่ถึง 7 ลูก หรือไม่มีเหลือเลย
หมากขุม เป็นการละเล่นพื้นเมืองที่ให้แต่คุณประโยชน์ ความเพลิดเพลิน สนุกสนาน ใช้สมองและปฏิภาณไหวพริบ ความว่องไวทั้งมือและสมอง ควรที่จะอนุรักษ์ไว้เป็นมรดกการเล่นของชาติสืบไป
13. ฉับโผง
 ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ประเภทโยน-รับ หรือขว้าง-ปา ฉับโผง นี้เป็นการละเล่นพื้นบ้านของ
ทางภาคใต้ มีต้นกำเนิดจากจังหวัดกระบี่ ในอิสานเด็กๆก็นิยมเล่นกันอย่างแพร่หลายเช่นกัน


อุปกรณ์และวิธีการเล่น
ฉับโผง เป็นวัตถุประดิษฐ์ที่เด็กกระบี่ในสมัยก่อนนิยมเล่นกัน วิธีการประดิษฐ์นำไม้ไผ่ขนาดเล็ก มาตัดให้เหลือ ๑ ปล้องมีรูกลวงตรงกลางตลอดลำ ( ยาวประมาณ ๑ คืบ) เรียกส่วนนี้ว่า "บอกฉับโผง"จากนั้นนำไม้ไผ่ความยาวประมาณ ๑.๕ คืบมาเกลาให้กลม ขนาดพอที่จะกระทุ้งเข้าไปในกระบอกไม้ไผ่ที่เตรียมไว้ได้ พร้อมทั้งใช้ไม้ไผ่ขนาดเท่ากระบอกฉับโผงความยาวประมาณ ๐.๕ คืบ สวมโคนไม้ไผ่ส่วนที่ยาวเกินกระบอก ชิ้นส่วนนี้เรียกว่า "ด้ามจับ"

วิธีการเล่น 
นำลูกพลา (ผลไม้ป่ามีลักษณะผลเป็นช่อคล้ายมะเขือพวงแต่ลูกเล็กกว่า) อัดเข้าไปในกระบอกฉับโผง แล้วมือข้างหนึ่งถือกระบอกมือข้างหนึ่งถือด้ามจับสอดปลายด้ามจับกระทุ้งไปด้านหน้าแรงๆให้แรงอัดดันลูกพลาพุ่งออกไปนอกกระบอก
โอกาสและเวลาที่เล่น
การเล่นฉับโผงไม่จำกัดโอกาสและเวลาที่เล่น สามารถใช้เล่นยิงกันแทนปืนหรือยิงวัตถุที่เป็นเป้าได้ทุกโอกาส
คุณค่าและแนวคิด
การเล่นฉับโผงส่วนใหญ่แล้วนิยมเล่นกันเป็นกลุ่มๆ  ก่อให้เกิดความสามมัคคีในหมู่คณะ  ฝึกความแม่นยำและฝึกความสัมพันธ์ระหว่างตากับมือและเป็นการฝึกให้เด็กๆได้นำวัสดุจากธรรมชาติมาประดิษฐ์เป็นของเล่น
14.ลิเกป่า
ลิเกป่าหรือลิเกรำมะนาเป็นการเล่นพื้นเมืองที่น่าสนใจอย่างหนึ่งของชาวเมืองนครศรีธรรมราชและชาวภาคใต้ทั่วไป ไม่ทราบแน่ชัดว่าการละเล่นชนิดนี้มีมาตั้งแต่เมื่อใดคนเก่าคนแก่ของชาวภาคใต้ซึ่งมีอายุมากกว่า 70 ปีแล้วเล่าให้ฟังว่ามีคณะลิเกป่าเล่นกันมานานและเกือบจะพูดได้ว่ามีอยู่เกือบจะทุกหมู่บ้าน โดยเฉพาะที่อำเภอเมืองมีลิเกป่ามากกว่าที่อื่นใดทั้งสิ้น แต่ในปัจจุบันนี้จะหาดูลิเกป่าจากที่ใดในเมืองนครศรีธรรมราชไม่ได้อีกแล้ว


          
มีผู้กล่าวว่าลิเกป่าได้แบบอย่างมาจากพวกแขก กล่าวคือ คำว่า "ลิเก" มาจากการร้องเพลงสรรเสริญพระเป็นเจ้าของแขกเจ้าเซ็นที่เรียกว่า "ดิเกร์" ซี่งเป็นภาษาเปอร์เซีย เพราะนิกายเจ้าเซ็นนี้มาจากเปอร์เซีย พวกเจ้าเซ็นที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยเคยได้รับพระราชูปภัมถ์มากมายตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นต้นมา เพราะพวกเจ้าเซ็นมีเสียงไพเราะ ร้องเพลงเป็นที่นิยมฟังกันทั่วไป ต่อมาไม่นานนอกจากพวกเจ้าเซ็นแท้ๆ แล้วก็มีคนไทยหัดร้องเพลงดิเกร์ขึ้น ขั้นแรกก็มีทำนองการใช้ถ้อยคำเหมือนกับเพลงสวด ต่อมาเมื่อคนไทยนำมาร้องก็กลายเป็นแบบไทย และคำว่าดิเกร์ก็เพี้ยนมาเป็นลิเกหรือยี่เก แต่อย่างไรก็ตามถ้าหากพิจารณาถึงเครื่องดนตรี รำมะนาที่ลิเกป่าใช้ประโคมประกอบการเล่นนั้น ชวนให้เข้าใจว่าการเล่นลิเกป่าน่าจะได้แบบอย่างมาจากมลายู เพราะมลายูมีกลองชนิดหนึ่งเรียกว่า "ระบานา" (Rebana) ซึ่งมีสำเนียงคล้ายกับรำมะนาของไทยเราดังกล่าวแล้ว

          
ผู้แสดงลิเกป่าคณะหนึ่งๆ มีไม่เกิน 8 คน แต่ถ้ารวมลูกคู่เข้าไปด้วยก็มีจำนวนคนเท่าๆ กัน กับมโนห์ราคณะหนึ่งทีเดียว
          
การแสดงลิเกป่าจัดแสดงได้ในเกือบทุกงานดังกล่าวแล้ว ก่อนลงมือแสดงจะต้องโหมโรงก่อนประมาณ 15-20 นาที การโหมโรงจะใช้กลองรำมะนาตีประโคมเพื่อให้จังหวะ กับมีบทเพลงคล้ายๆ กับลำตัดร้องไปด้วย โดยผลัดกันร้องทีละคน เวียนเป็นรูปวงกลม ขณะที่ร้องเพลงจะต้องขยับท่าให้เข้ากับคำร้องและจังหวะของกลอง บางทีอาจจะมีลูกคู่ออกมารำสมทบด้วย ผลัดเปลี่ยนกันไปทีละคู่ ๆ การร้องเพลงและประโคมดนตรีเช่นนี้เรียกว่า "เกริ่นวง" ตัวอย่างเพลงเกริ่นของลิเกป่ามีดังนี้



"
น้ำขึ้นเต็มคลอง แม่ไม่ใส่เสื้อ
"
น้ำเอยเจ้าไหลรี่ ลอยมาข้างนี้
"
โอ้เจ้าช่อมะม่วง ถ้าน้องลวงพี่

เรือล่องไปติดซัง ถ่อเรือไปแลหนัง ไอ้ปลากระดี่ลอยวน มารับเอาพี่ไปด้วยคน" โอ้เจ้าพวงมะไฟ พี่จะหนีไปแห่งใด"

          หลังจากร้องเพลงเกริ่นแล้วก็เป็นการออกแขก แขกที่ออกมาจะแต่งกายและแสดงท่าทางตลอดจนสำเนียงพูดเลียนแขกอินเดียทุกอย่าง อาจจะมีเพียงตัวเดียวหรือ 2 ตัวก็ได้โดยผลัดกันออกมาคือแขกขาวกับแขกแดง ออกมาเต้นหน้าเวทีพร้อมกับแสดงท่าทางและร้องประกอบโดยมีลูกคู่รับไปด้วย หลังจากแขกเข้าโรงแล้ว จะมีผู้ออกมาบอกกับผู้ดูว่าจะแสดงเรื่องอะไร และหลังจากนั้นก็เป็นการแสดงเรื่องราว
          
เรื่องที่ลิเกป่านิยมเล่นกันมากได้แก่วรรณคดีเก่าๆ เช่น อิเหนา โคบุตร สุวรรณหงส์ ลักษณวงศ์ เป็นต้น หรือไม่ก็เป็นเรื่องที่แต่งขึ้นเองตามยุคสมัยที่นิยมกันก็มี
          
ภาษาที่พวกลิเกป่าใช้ ไม่ว่าจะเป็นบทร้องหรือบทเจรจาพวกลิเกป่าจะใช้ภาษาของชาวพื้นเมืองที่ตถนัดกันเป็นส่วนใหญ่ แต่ถ้าเป็นตัวเอกทั้งฝ่ายหญิงฝ่ายชายจะใช้ภาษาที่ชาวพื้นเมืองเรียกว่าภาษาข้าหลวง คือเป็นภาษากลาง แต่สำเนียงพูดแปร่งๆ ผิดๆ ถูกๆ หรือที่เรียกกันว่า "พูดทองแดง"
          
จากที่กล่าวมาแล้วน่าจะสรุปได้ว่า ที่เรียกการละเล่นชนิดนี้ว่าลิเกป่านั้นคงจะเนื่องมาจากเล่นไม่ยึดถือแบบฉบับ ขาดความสมบูรณ์ในทุกๆ ด้านและเล่นกันเป็นงานบันเทิงสมัครเล่นเพื่อความสนุกสนานตามประสาชาวบ้านป่า ไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพแน่นอนนั่นเอง
          
ในปัจจุบันการเล่นลิเกป่าที่จังหวัดนครศรีธรรมราชหาดูไม่ได้อีกแล้ว ทั้งนี้เพราะมีเหตุหลายประการที่ทำให้การละเล่นชนิดนี้เสื่อมสูญไป เช่น เนื่องจากการเล่นลิเกของภาคกลาง ซึ่งเผยแพร่เข้ามาดูน่าชมกว่า เล่าเรื่องที่น่าสนใจกว่า การขับร้องและท่ารำก็แปลกและพิสดารกว่า และสาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือลิเกป่าเป็นลิเกสมัครเล่น ไม่ได้ยึดเป็นอาชีพจริงจังดังกล่าว พร้อมกันนั้นอิทธิพลวัฒนธรรมตะวันตกได้เผยแพร่เข้ามามากลิเกป่าจึงเสื่อมหายไปในที่สุดจนเกือบจะหาชมไม่ได้อีกเลย





          การแต่งกายของตัวแสดงส่วนใหญ่มีชุดอย่างไรก็แต่งกันอย่างนั้น คือตามมีตามเกิด มีมากแต่งมากมีน้อยแต่งน้อย แต่พระเอกจะแต่งกายงามเป็นพิเศษ คือนุ่งผ้าโจรงกระเบน ใส่เสื้อแขนยาว ใส่ทองกร สวมสายสร้อย สังวาล ทับทรวง ถ้ามีชฎา ซึ่งอาจจะทำด้วยกระดาษหรือหนัง ประดับประดาด้วยพลอยหรือกระจกให้แวววาว ส่วนนางเอกก็นุ่งผ้าถุงจีบใส่เสื้อแขนสั้น กำไลเท้า มีผ้าห่มคลุมห้อยพาดหลัง อาจจะสวมใสชฎา
หรือใส่กระบังหน้าหรือไม่ใส่ก็ได้ เครื่องประดับอื่นๆ ก็มีสร้อยร้อยลูกปัด ถ้าเป็นตัวตลก หรือเสนาอำมาตย์ก็แต่งกายอย่างง่ายๆ คือไม่สวมเสื้อ นุ่งผ้าถุง แต้มหน้าทาคิ้วให้ดูแล้วน่าขัน




          
ลิเกป่านิยมเล่นกันแถบชนบท บ้านนาบ้านป่า เป็นการหาความสนุกสนานในยามว่างงาน เป็นลิเกสมัครเล่นไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพหลัก นิยมเล่นกันแถบชนบท บ้านนาบ้านป่า เป็นการหาความสนุกสนานในยามว่างงาน เป็นลิเกสมัครเล่นไม่ได้ยึดถือเป็นอาชีพหลัก แต่ถ้าใครรับไปแสดงในงานต่างๆ ก็จะรวมสมัครพรรคพวกไปเล่นได้ อัตราค่าแสดงก็ไม่แน่นอนแล้วแต่ข้อตกลงกับเจ้าภาพ เช่น ระยะเวลาที่แสดง ระยะทางและค่าพาหนะในการเดินทาง เป็นต้น
15.เป่ากบ : การละเล่นของเด็ก
ภาค     ภาคใต้
จังหวัด
  พังงา
·         อุปกรณ์และวิธีการเล่น
อุปกรณ์
๑. ยางวง (ยางเส้น) วงใหญ่ หรือวงเล็กก็ได้ แล้วแต่ความชอบและความถนัด
๒. ผู้เล่นจำนวนตั้งแต่ ๒ คน หรือมากกว่า เล่นทั้งเด็กชายและเด็กหญิงบางครั้งอาจเล่นเป็นทีมก็ได้
๓. สถานที่ เช่น พื้นซีเมนต์ พื้นกระดาน หรือพื้นโต๊ะ
วิธีการเล่น
เป่ากบเป็นการเล่นอย่างหนึ่งของเด็ก เล่นกันทั้งเด็กชายและหญิง ผู้เล่นมีจำนวน ๒ คน หรือเป็นทีมก็ได้ สถานที่เล่น ในที่ร่ม ใช้พื้นที่เรียบ ๆ เช่น พื้นซีเมนต์ พื้นกระดาน หรือพื้นโต๊ะ ซึ่งผู้เล่นจะเอายางเส้น (ยางวง) จะเป็นวงเล็กหรือวงใหญ่ หรืออาจจะเป็นวงสีต่าง ๆ อยู่ที่ความชอบ ได้แก่ สีเขียว สีแดง สีน้ำตาล เป็นต้น นำมาวางบนพื้นคนละ ๑ เส้น ให้อยู่ห่างกันประมาณ ๑ ฟุต ผู้เล่นจะผลัดกันเป่ายางเส้น (ยางวง) ของตนไปข้างหน้าทีละน้อย ๆ จนยางเส้นทั้งสองมาอยู่ใกล้กันผู้เล่นคนใดเป่าให้ยางเส้นของตนไปทับยางเส้น ของฝ่ายตรงข้ามได้ก็จะเป็นผู้ชนะ ฝ่ายแพ้จะต้องจ่ายรางวัลให้กับผู้ชนะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นยางเส้น (ยางวง) แต่อาจให้รางวัลอื่น ๆ ก็ได้ตามแต่จะตกลงกัน
·         โอกาสหรือเวลาที่เล่น
การเล่นเป่ากบของเด็ก ส่วนใหญ่เล่นกันในเวลาที่ว่าง และมีอุปกรณ์พร้อมที่จะเล่นกันทั้งสองฝ่าย
·         คุณค่า / แนวคิด/ สาระ
๑. การเล่นเป่ากบ เป็นการเล่นที่ให้ความสนุกสนานแล้วยังเป็นการฝึก การรู้กำหนดจังหวะและกะระยะด้วย
๒. การเล่นเป่ากบเป็นการฝึกสังเกต ไหวพริบในการเป่าของคู่ต่อสู้ ซึ่งจะเป็นวิธีหนึ่งที่จะทำให้เด็กรู้จักคิดให้รอบคอบก่อนที่จะเป่า ถ้าเป่าโดยไม่คิดอาจจะผิดพลาดได้ จนทำให้ต้องแพ้
๓. เป็นการฝึกให้เด็กรู้จักความรัก ความสามัคคี


16.โนราแขก
ชื่อ
โนราแขก
ภาค
ภาคใต้
จังหวัด
นราธิวาส

อุปกรณ์และวิธีการเล่น
๑. ดนตรี มีดังนี้คือ กลอง ๒ ใบ ทับ ๑ คู่ ทน (กลองแขก) ๒ ใบ ฆ้อง ๑ คู่ นอกจากนี้มีโหม่ง ปี่ชวา ซอ รือบะ แสะ (แตระ) และฉิ่ง
๒. เครื่องแต่งตัว คล้ายกับโนราทั่วไป แต่การนุ่งผ้าจะไว้หางหงส์ยาวกว่า เครื่องประดับร่างกายประกอบด้วยลูกปัด ปิดไหล่ สายสังวาล ทับทรวง ปีกนก ปิเหน่ง (ปิ้นเหน่ง) ปีก (หางหงส์) ผ้าห้อย กำไลต้นแขน กำไลปลายแขน เล็บ ผ้าผูกคอ และเทริด (เทริดนิยมห้อยอุบะด้วย)
๓. ธรรมเนียมนิยมในการแสดง โนราแขกจะมีลักษณะประสมประสานระหว่างโนรากับมะโย่ง ดนตรีที่ใช้ ใช้ดนตรีโนราและดนตรีมะโย่งผสมกัน การขับบทก็คล้ายกับการร้องของมะโย่ง โดยเฉพาะบทขับต่าง ๆ ที่ขับโต้ตอบระหว่างพ่อโนรากับนางโนรานั้นเรียกว่าเพลง เช่น เพลาร่ายแตระ เพลาเดิน เพลาฉันทับหรือเพลาทน เพลาฆ้อง เพลาฉิ่ง เป็นต้น แต่ก่อนที่จะขับบทร้องแสดงเรื่องนั้น จะมีการว่าบทกาศครูเช่นเดียวกับโนราทั่วไป การแสดงเรื่องสมัยก่อนนิยมแสดงเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องจากวรรณคดี ต่อมาแสดงอย่างละครสมัยใหม่ แต่ถ้าเล่น…..จะต้องเล่นร้องพระสุธนมโนราห์
ลำดับการแสดงของโนราแรก เริ่มด้วยดนตรีโหมโรงพ่อโนราว่าบทกาศครู จากนั้นก็เริ่มแต่งตัว ขณะแต่งตัวเมื่อนุ่งผ้านุ่งผ้าใส่ปีกเสร็จแล้วจะนั่งว่าบท เป็นบทร่าาแตระไปพร้อมกับใส่เครื่องประดับอื่น ๆ เช่น กำไลต้นแขน ปลายแขน เล็บและเทริด เป็นต้น เมื่อแต่งตัวเสร็จพ่อโนราจะลุกขึ้นรำโดยมีนางโนรา ๑ คู่ รำตามหลัง การรำนี้จะไม่รำเป็นท่าแบบโนราทั่วไป แต่จะรำเป็นเพลงมีการรำเคล้ารำบทกับนางรำ สลับการรำบท มีการ "ทำบท" แบบโนราทั่วไป เช่น บทผัดหน้า บทสีไต เป็นต้น โดยมีนางโนราทั้ง ๒ คน ร้องรับและโต้ตอบ ลักษณะของบทหรือเพลาที่ร้อง เมื่อพ่อโนรานั่งว่าบท นางโนราทั้งสองจะนั่งหมอบอยู่ด้านหน้า ถ้าพ่อโนราเรียกจะขานรับ เช่น ขานว่า "ยอละแบะเร" เป็นต้น การร้องโต้ตอบกันนั้น ถ้าเป็นโนราที่เป็นคนไทยล้วนจะร้องโต้ตอบกันเป็นภาษาไทยบ้าง มลายูบ้าง เมื่อร้องทำบทหรือเพลาเสร็จจะเป็นการแสดงเรื่องต่อไป
เรื่องที่แสดงเป็นเรื่องจากวรรณคดีไทยประเภทจักร ๆ วงศ์ ๆ เช่น วรวงศ์ พระสุธนมโนราห์ ไกรทอง สังข์ทอง เป็นต้น โนราแขกเดิมผู้เล่นเป็นชายล้วนแสดงเป็น "พ่อโนรา" (โนราใหญ่) และนางโนรา ต่อมาภายหลังพ่อโนราเป็นชายและนางโนราเป็นหญิง

โอกาสหรือเวลาที่เล่น
โนราแขกแสดงได้ทุกงาน ทั้งงานบุญกุศลงานประชัน และงานแก้บน (แก้เหมรย) เช่น งานแต่งงาน งานบวชนาค งานเข้าสุนัต แต่เมื่อมีการพัฒนาการเล่นแบบโบราณมาเล่นดนตรี และแสดงเรื่องอย่างละครสมัยใหม่ ทำให้ธรรมเนียมการแสดงเปลี่ยนไปหมด คือเริ่มการเล่นดนตรีแบบสากลร้องเพลงมลายูและเพลงอินเดีย ต่อด้วยการแสดงแบบละครสมัยใหม่ ปัจจุบันถ้าจะดูโนราแขกจริง ๆ ก็จะดูได้ในโอกาสงานแก้บนและงานไหว้ครูโนราเท่านั้น

สาระ
โนราแขกเป็นการละเล่นพื้นบ้านของจังหวัดนราธิวาส โนราแขกจะมีลักษะประสานระหว่างโนรากับมะโย่ง ดนตรีที่ใช้ ใช้ดนตรีโนราและดนตรีมะโย่งผสมกัน เป็นการแสดงที่ให้ความสนุกสนาน เรื่องที่จะแสดงเป็นเรื่องจักร ๆ วงศ์ ๆ เรื่องจากวรรณคดี โนราแขกจะแสดงได้ทุกงาน ทั้งงานบุญงานกุศล งานประชันและงานแก้บน (แก้เหมรย)